“การแพ้อาหารในเด็ก” เรื่องไม่เล็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมพร้อม
- แพ้อาหารแบบเฉียบพลัน และแพ้รุนแรง
อาการจะเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วหลังจากการสัมผัสหรือการบริโภคอาหารที่แพ้ โดยมีอาการรุนแรงที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน และมีอาการหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ผื่นแดงบริเวณผิวหนัง ผื่นลมพิษ เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันโดยทันที สามารถเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า คอ แขน ขา ตาบวม หรือบริเวณอื่น ๆ บนร่างกาย ระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการอักเสบหรืออักเสบของหลอดลม ปอด หอบ หายใจเสียงดัง ระคายเคืองคอหรือจมูก ไอ คันลิ้น กล่องเสียงบวม เสียงแหบ ระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง และอื่นๆ ภาวะช็อก หมดสติ หรือเป็นลม ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลทางการแพทย์ทันที โดยโทร 1669 หรือโทรหาโรงพยาบาลประจำตัว และรีบพาไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ในบางรายอาจมีการพกยาฉีดฉุกเฉิน ฉีดยา อะดรีนาลิน หรือ ทานยาแก้แพ้เบื้องต้น เพื่อป้องกันภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้จนถึงขั้นเสียชีวิต
- แพ้อาหารแบบเฉียบพลัน แต่แพ้ไม่รุนแรง
อาการเกิดอย่างรวดเร็ว แต่มีเพียงอาการเดียว เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม อาเจียน หรือถ่ายเหลว เมื่อมีอาการผู้ป่วยสามารถทานยาแก้แพ้ บันทึกประวัติ ถ่ายรูปเก็บไว้ และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
- แพ้อาหารแบบไม่เฉียบพลัน
จะเป็นอาการแพ้แบบไม่รุนแรง แต่เรื้อรัง โดยผื่นแพ้อาหารแบบค่อยๆ เกิด อาจจะเป็นผื่นแก้ม แขน ขา ข้อพับ ผิวแห้ง ผื่นเม็ดๆ ผื่นเหวอะๆ แฉะๆ น้ำมูกเรื้อรัง กรน เสมหะ โดยแนะนำให้งดอาหารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดการแพ้ และมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการที่รักษาที่เหมาะสม 6 อาหารยอดฮิตที่เด็กแพ้ 1) นมและผลิตภัณฑ์นม 2) ไข่ 3) แป้งสาลี 4) ถั่วเหลือง 5) ถั่วลิสง 6) อาหารทะเล แพ้อาหารเป็นแล้วหายได้ไหม? เด็กที่มีอาการแพ้นมประมาณ 50 – 60% หายแพ้เมื่ออายุ 5 ปี เด็กที่แพ้ไข่ประมาณ 50% หายแพ้เมื่ออายุ 6 ปี เด็กที่แพ้แป้งสาลีประมาณ 50% หายแพ้เมื่ออายุ 7 ปี แต่เด็กมักไม่หายแพ้ในกรณีที่แพ้ถั่ว และอาหารทะเล การป้องกัน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ควรทานอาหารตามปกติ ให้มีความสมดุล ไม่มากหรือน้อยเกินไป เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้วให้ทานนม และให้เริ่มทานอาหารตามวัย ตั้งแต่อายุ 4 – 6 เดือน โดยที่ลูกไม่ควรงดทานอาหารใดๆ และผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูก หากมีอาการแพ้อาหารทั้งแบบเฉียบพลัน หรือไม่เฉียบพลัน ให้รีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
การวินิจฉัย อาศัยอาการทางคลินิก และการตรวจร่างกาย ในบางรายสามารถทำการทดสอบการแพ้อาหารทางผิวหนัง (Skin Test) หรือตรวจเลือดได้ (Specific IgE) การรักษา การแพ้อาหารในเด็ก ผู้ปกครองควรพาลูกมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมซึ่งขึ้นกับอาการแพ้ของเด็กแต่ละคน โดยแพทย์จะแนะนำให้หาว่าลูกแพ้อาหารอะไร และหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ดูว่ามีแพ้ข้ามกลุ่มไหม โดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียน ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาหารที่แพ้ และแจ้งกับคุณครูประจำชั้นเพื่อการดูแลที่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กครึ่งนึงจะหายจากการแพ้อาหารก่อนไปโรงเรียน จะมีอีกครึ่งหนึ่งที่ยังไม่หายและต้องไปโรงเรียน ดังนั้นควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม เช่น ผู้ปกครองเตรียมป้ายแพ้อาหารให้เด็ก (Allergy Labels) ติดที่เสื้อหรือกล่องอาหาร กรณีมีการจัดงานวันเกิดที่โรงเรียน คุณครูควรระมัดระวัง สอบถามถึงส่วนประกอบของอาหารหรือเค้กที่ผู้ปกครองเตรียมมา ซึ่งมักจะมีส่วนประกอบที่เด็กแพ้ เช่น นม ไข่ แป้งสาลี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กที่แพ้ร่วมรับประทาน
ตัวอย่างการรักษา
- แพ้นมวัว กินนมอะไรดี ถ้าลูกแพ้นมวัว สามารถให้ลูกทานนมแม่ได้ (แม่อาจต้องงดนมและผลิตภัณฑ์ของนม) หรือทานนมสูตรพิเศษ ทั้งนี้เด็กบางคนเมื่อโตขึ้นจะสามารถเริ่มกินผลิตภัณฑ์ที่มีนมวัวที่ผ่านความร้อนสูงได้ เช่น เค้ก คุ้กกี้ แต่ยังกินนมสดไม่ได้
- แพ้ถั่วต่างๆ ถั่วเมล็ดเดี่ยว (พิชาชิโอ แอลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์) ถั่วหลายเมล็ด (ถั่วลิสง ถั่วเหลือง) โดยเด็กที่แพ้ถั่วเมล็ดเดี่ยวจะแพ้ข้ามถั่วต่างๆ ทั้งแบบเมล็ดเดี่ยวและเป็นฝัก ทั้งนี้สำหรับเด็กที่แพ้ถั่วลิสงมักไม่แพ้ถั่วเหลือง และถ้าแพ้ถั่วเหลืองมักไม่แพ้ถั่วลิสง แต่ถ้าแพ้ถั่วลิสงจะแพ้ถั่วเมล็ดเดี่ยวๆ ด้วย
“ปัจจุบันยังคงพบว่ามีผู้ปกครองหลายท่านมีความเชื่อที่ผิด เช่น เด็กแพ้อะไรก็ให้กินเข้าไป เดี๋ยวก็ชนะ หรือการงดอาหารที่แพ้เองโดยที่ยังไม่ได้มาปรึกษาแพทย์ ในบางรายอาจเริ่มกระตุ้นให้เด็กกินอาหารที่แพ้เอง ซึ่งการจัดการการแพ้อาหารในเด็กจำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อระบุสารอาหารที่เกิดอาการแพ้และระดับความรุนแรงของการแพ้ หลังจากนั้นจึงจะสามารถกำหนดแผนการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของเด็กแต่ละคน”