ทำอย่างไรเมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม ?!
Cr. ทำอย่างไรเมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม ?! – โรงพยาบาลศิครินทร์ (sikarin.com)
ช่วงนี้เด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บ้าน อาจทำให้เผลอกลืนของเล่น หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆโดยไม่ตั้งใจได้ ในเด็กอายุช่วง 6 เดือน ถึง 3 ปี เป็นช่วงอายุที่พบว่ามีการกลืนสิ่งแปลกปลอมบ่อยที่สุด! เนื่องจากเป็นวัยที่ชอบสำรวจ เรียนรู้ และมักจะหยิบของเข้าปากบ่อยๆ ส่วนใหญ่แล้วสิ่งแปลกปลอมที่กินเข้าไป มักจะเคลื่อนออกจากทางเดินอาหารได้เอง มีประมาณ 10-20% ที่อาจต้องใช้การส่องกล้องเพื่อนำออก และน้อยกว่า 1 % ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม?
โดยส่วนมากมักจะได้ประวัติการกลืนสิ่งแปลกปลอมที่ชัดเจน เด็กบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติ แต่บางคนก็อาจพบอาการผิดปกติได้ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง และระยะเวลาที่สิ่งแปลกปลอมติดอยู่ อาการที่พบได้ เช่น ไอ สำลัก หายใจไม่สะดวก เจ็บคอ ไม่ยอมกลืนน้ำลาย หรือมีน้ำลายไหลเยอะผิดปกติ อาเจียนมีเลือดปน ปวดท้อง เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตัวเบื้องต้นอย่างไร เมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม
1. งดน้ำ งดอาหารไว้ก่อน
2. ไม่ควรล้วงคอ หรือทำให้อาเจียน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น หรือสิ่งแปลกปลอมอาจหลุดมาอุดทางเดินหายใจทำให้เสียชีวิตได้
3. รีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจประเมิน และนำตัวอย่าง หรือรูปสิ่งของที่เด็กกลืน ไปให้แพทย์ดูด้วย
การรักษา
หากเป็นสิ่งแปลกปลอมไม่มีคม และมีขนาดเล็ก มักจะผ่านทางเดินอาหารออกมาเองได้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นสิ่งแปลกปลอมบางชนิด เช่น
– วัตถุมีคม
– สิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดยาวมากกว่า 5 cm. หรือกว้างมากกว่า 2.25 cm,
– สิ่งแปลกปลอมที่มีพิษ เช่น ถ่านแบบกระดุม
– กลืนแม่เหล็กมากกว่า 1 ชิ้น
หรือลูกมีอาการที่ผิดปกติ อาจต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยวิธีส่องกล้อง เพื่อนำเอาสิ่งแปลกปลอมออก
การป้องกันไม่ให้ลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม
– ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียว
– เก็บของเล่น และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เหรียญ ลูกปัด เข็มหมุด ให้เป็นระเบียบ ไม่ให้มีหล่นตามพื้น
– ควรเลือกของเล่นให้เด็ก ไม่ควรเลือกที่มีขนาดเล็กเกินไปและไม่แตกหักเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ