fbpx

ลูกเราจะเริ่มพูดเมื่อไหร่กันนะ

ลูกเริ่มพูดเมื่อไรกันนะ และพ่อแม่ควรสอนอย่างไร?

Cr.DG Smartmom ผลิตภัณฑ์นมแพะ DG

โดยทั่วไปเด็กจะเริ่มหัดออกเสียงต่างๆ เมื่ออายุประมาณ 12-18 เดือน จากนั้นจะค่อยๆ หัดพูดเป็นคำ เด็กจะเริ่มเลียนแบบเสียงที่เขาได้ยินรอบๆ ตัว หลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่เด็กเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากพูดคำง่ายๆ ไม่กี่คำ และพัฒนาขึ้นเป็นการถามคำถาม บอกวิธีการ และเล่าเรื่องที่เขาแต่งขึ้นเอง ซึ่งบางคนอาจจะพูดได้เร็วหรืออาจจะส่งเสียงพูดเป็นคำๆ ออกมาได้ช้ากว่านี้ แต่ไม่ควรเกิน 2 ขวบ ถ้าเกินไปจากนี้คุณแม่อาจต้องปรึกษาแพทย์

เทคนิคฝึกลูกให้มีทักษะการพูดที่ดีไปจนโต

1. พูดคุยกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ

ยิ่งเริ่มพูดกับลูกเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น หากเราพูดคุยกับเขามากเท่าใด สมองส่วนที่ใช้ในการเรียนรู้ภาษาจะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น สอนคำใหม่ๆ ให้ลูกทุกวัน เมื่อเด็กได้ยินคำศัพท์มากๆ เขาจะเรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น และที่สำคัญคือ พูดกับลูกเหมือนพูดกับผู้ใหญ่ทั่วไป จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การพูดอย่างถูกต้องและไม่ทำให้เขาสับสน

2. จ้องตาลูกเมื่อพูดคุยกับเขา

การมองหน้าลูกเมื่อพูดคุยกับเขา จะช่วยสอนให้ลูกน้อยเรียนรู้การแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทักษะในการสื่อสารของเขา สิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ ควรมองหน้าลูกเมื่อคุยกับเขาตั้งแต่เมื่อเขายังเป็นทารก และเมื่อเขาโตขึ้น ก็ควรที่จะพูดต่อหน้าเขา เวลาที่ต้องการจะสั่งให้เขาทำอะไรก็ตาม

3. ใช้ภาษาที่ถูกต้องและถูกหลักไวยากรณ์

ลูกจะเรียนรู้ภาษาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน หากเราคอยช่วยแก้ไขคำศัพท์ที่เขาพูดผิดให้ถูกต้อง เช่น สอนให้ลูกพูดคำว่า “ไอศกรีม” แทนคำว่า “ไอติม” เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้คำที่ถูกต้อง และก่อนที่ลูกน้อยจะมีอายุ 3 ขวบ จะเป็นช่วงที่เขาเรียนรู้ที่จะผสมประโยคได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เด็กจะรู้จักเรียงคำให้เป็นประโยค โดยเรียนรู้จากบทสนทนาที่เขาได้ยินจากพ่อแม่หรือคนเลี้ยงทุกวัน ดังนั้นเราจึงควรพูดให้เป็นประโยคอย่างถูกต้อง แทนที่จะพูดเป็นภาษาเด็กๆ เป็นคำๆ

4. สอนโดยการบอกใบ้ท่าทาง

ศัพท์บางคำ เด็กอาจจะไม่เข้าใจความหมายหรือสิ่งที่คุณแม่พยายามจะอธิบาย ดังนั้นการสอนพร้อมกับสิ่งที่เขาสามารถสัมผัสได้ เช่น เรื่องกลิ่น เรื่องความรู้สึกร้อน หนาว เย็น รวมไปถึงกิริยาท่าทางต่างๆ คุณแม่ก็สามารถทำให้เขาดูได้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจมากขึ้น

5. สนุกกับการสอน

ลูกจะสนุกกับการเรียนรู้และสนใจสิ่งรอบข้าง ถ้าคุณแม่สอนลูกด้วยความสนุกในการฝึกพูด เด็กเล็กนั้นมักชอบเสียงและจังหวะดนตรี ของเล่นที่มีการเล่นเสียงสูงต่ำจะเป็นที่สนใจของพวกเขามาก รวมไปถึงเสียงของสัตว์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นก ฯลฯ ดังนั้นคุณแม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้เป็นอุปกรณ์เสริมในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

7 คำที่ไม่ควรพูดต่อหน้าลูก

เด็ก ๆ เรียนรู้ภาษาจากการเลียนแบบ โดยเฉพาะจากคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ใกล้ชิด ในช่วงวัยหัดพูด การระวังคำพูดของพ่อแม่จึงสำคัญมาก และนี่คือ 7 คำติดปากที่ไม่ควรที่พูดให้เด็กๆ ได้ยิน เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการและจิตใจของลูกน้อยในระยะยาวได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรคิดก่อนพูด ระวังคำพูดของตัวเอง เพราะพ่อแม่พูดอย่างไร เด็ก ๆ ก็จะพูดอย่างนั้น

1. เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับนะ!

การข่มขู่หรือปลูกฝังให้เด็กกลัวแบบไม่มีเหตุผล จะส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ และจิตใจลูกได้ ความกลัวจะทำให้ลูกขาดความเชื่อมั่น ขาดการใช้ความคิดไตร่ตรอง ไม่หาความจริงด้วยเหตุผล ยิ่งขู่ให้กลัว ลูกยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจในตนเอง เปราะบาง มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ และอื่น ๆ ถ้าปล่อยไว้นานวันอาจส่งผลต่ออาการทางประสาทได้ เช่น เด็กความมืด กลัวที่แคบ เมื่อโตขึ้นได้

2. อย่าทำนะ !

การห้ามนั่นห้ามนี่เด็กตลอดเวลา จะทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าตัดสินใจ คุณแม่สามารถห้ามลูกทำสิ่งที่อันตราย หรือสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ แต่ควรอธิบายให้เหตุผลกับลูกด้วย

3. ล้อเลียน บูลลี่!

คุณแม่หลายคนอาจห่วงกลัวลูกจะโดนแกล้ง โดนล้อ โดนบูลลี่จากที่โรงเรียน แต่บางครั้งพ่อแม่นี่แหละที่ทำร้ายเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น ใช้คำพูดล้อเลียนสิ่งที่เด็กไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา สีผิว บุคลิกลักษณะเฉพาะตัว หรือความผิดพลาดในอดีต เรียก “หมูอ้วน” “ฉี่ราด” ฯลฯ ซึ่งเป็นปมในใจที่ดูเหมือนว่าเด็กไม่ได้คิดหรือรู้สึกอะไร อาจหัวเราะเสียด้วยซ้ำ แต่เก็บสะสมฝังใจจนทำให้เกิดความคิด และพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากความคาดหวังได้

4. ทำไมไม่เหมือนคนอื่นเลย

การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ หรือกับพี่กับน้อง เช่น “ลองดูเพื่อนคนนั้นสิ่” “ดูน้องสิ่ ยังทำได้เลย” ไม่ใช่การกระตุ้นให้ลูกพัฒนาตัวเอง แต่อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าเราด้อยกว่าอยู่เรื่อยๆ ไม่ส่งผลดีในการกระตุ้นให้ลูกได้พัฒนาตัวเองเลย นาน ๆ ไปจะทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะขาดความมั่นใจว่าตนจะทำได้สำเร็จ

ในทางตรงข้ามเด็กบางคนอาจจะรู้สึกโกรธ อิจฉา หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้าน รุนแรง ก้าวร้าวตอบโต้กลับไป ตรงกันข้ามกับที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสะใจที่พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับตัวเด็กเลย

5. เดี๋ยวแม่ไม่รักนะ

ควรหลีกเลี่ยงคำสั่งที่เป็นการบีบบังคับ กดดัน ข่มขู่ หรือมีเงื่อนไข และหากไม่ทำตามจะไม่ได้รับความรัก เช่น สั่งให้ทำการบ้านเดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่รัก ประโยคที่บอกว่า “ต้องดี ถึงจะรัก” เด็กที่ถูกพูดแบบนี้อยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นที่รัก เด็กหลายคนระวังกังวล กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ

6. ลูกไม่ผิดหรอก

การบอกบ่อย ๆ ว่าลูกไม่ผิด หรือโอ๋ลูกมากไป เช่น เดินเตะโต๊ะก็บอก ไหนใครทำลูกเจ็บ ทำเป็นตีโต๊ะ ตีเก้าอี้ แทนที่จะบอกให้ลูกเดินระมัดระวัง จะทำให้ลูกไม่รู้จักเรียนรู้ความผิดหวัง เมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นคนที่รับมือกับความผิดหวังได้ต่ำ เพราะคิดว่าทุกคนต้องทำตามที่ต้องการ

7. หยุดร้องเดี๋ยวนี้นะ!

เมื่อลูกมีอารมณ์โกรธ โมโห ร้องไห้ออกมา ถ้าไม่อยู่ในที่สาธารณะ ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนรำคาญ พ่อแม่อาจจะต้องปล่อยให้ลูกได้ร้องไห้ออกมา ไม่ควรออกคำสั่งแค่ว่าหยุดร้องเดี๋ยวนี้นะ แต่ต้องบอกว่าลูกร้องไห้ได้ โมโหได้ เสียใจได้ ถ้าลูกหยุดร้องแล้วเรามาคุยกันนะคะ เป็นการให้ลูกได้ระบายความเครียดตัวเองออกมา ลูกจะได้ไม่เก็บความเครียดไว้ และไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิง หรือเด็กผู้ชายก็สามารถร้องไห้ได้ ไม่ใช่บอกว่าเป็นเด็กผู้ชายห้ามร้องไห้นะ

พัฒนาการของเด็กแต่ละคนนั้น จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเด็กเหล่านั้น การพูดคุยกับลูก สิ่งสำคัญคือต้องอยู่บนพื้นฐานความรักของพ่อแม่ ควรใช้วิธีการพูดกับลูกในทางบวก ชมเชย ให้กำลังใจลูก เช่น “เก่งจังเลย” “ทำได้เยี่ยมไปเลย” ควรใช้คำพูดที่สุภาพ และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ เติบโตขึ้นเป็นเด็กที่มีพัฒนาการที่ดีในทุกๆ ด้าน ทั้งร่างกาย และจิตใจ

และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะให้ลูกน้อยของคุณได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มนมวันละ 2 แก้ว โดยเฉพาะนมแพะที่มีสารอาหารธรรมชาติสูง จากระบบการสร้างน้ำนมแบบ อะโพไครน์ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน นมแพะมีโปรตีนย่อยง่าย ช่วยให้ลูกเติบโตมีสุขภาพแข็งแรง พัฒนาการสมวัย พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ