เด็กพูดช้า…แค่ไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ
Cr. เด็กพูดช้า…แค่ไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ | โรงพยาบาลพญาไท (phyathai.com)
เด็กพูดช้า…แค่ไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ
โดยปกติแล้ว เด็กจะมี ‘พัฒนาการทางด้านภาษา’ หรือการพูดตั้งแต่แรกเกิด เริ่มจากการส่งเสียงร้องไห้ และประมาณ 2-3 เดือนต่อมา ก็จะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้บ้าง เหมือนเป็นการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู และพัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นเสียงหัวเราะ ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ เล่นน้ำลาย เป่าปาก ส่งเสียงจากลำคอ ทำตามคำพูดหรือคำถาม และ เด็กจะพัฒนาจนพูดเป็นคำพูดในช่วงประมาณ 1 ขวบ จากนั้นจะเริ่มพูดคำที่มีความหมาย 2 คำติดกันเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ จนกระทั่งพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้ในประมาณ 3-4 ขวบ
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าลูกมีความผิดปกติทางการพูดหรือพูดช้า ?
ลองสังเกตลูกน้อยของคุณ หากมีอายุประมาณ 2 ขวบแล้ว ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้เลย หรือพูดได้แค่คำศัพท์คำเดียว สื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ แบบนี้จะถือว่าผิดปกติ อย่างไรก็ตามไม่ควรรอจนกระทั่งอายุ 2 ขวบ หากได้สังเกตตามช่วงอายุดังที่กล่าวไป พบว่าลูกไม่สามารถสื่อสารตามพัฒนาการที่ควรจะเป็นได้ หรือหากเราพูดหรือสั่งลูกแล้ว เด็กไม่เข้าใจว่าเราพูดว่าอะไร หรือเรียกชื่อแล้วไม่หัน แสดงว่าลูกอาจมีความผิดปกติด้านการพูดจากการฟัง ควรรีบพาลูกเข้าพบแพทย์ เพื่อปรึกษา ตรวจ วินิจฉัยหาสาเหตุ และหาทางรักษาต่อไป
สาเหตุที่เด็กพูดช้าเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
- ประสาทหูพิการ คือเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ภาษาและการพูดจากการได้ยินเสียงและคำพูดปกติได้ แต่จะใช้ภาษาท่าทางในการสื่อสาร ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเด็กอาจจะมีปัญหาทางอารมณ์ร่วมด้วยเช่น ร้องไห้โวยวายเมื่อขัดใจ แต่บอกความต้องการไม่ได้ เป็นต้น
- สมองถูกทำลาย คือเด็กที่มีความผิดปกติของสมอง ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพและขนาดของรอยโรค เช่น เด็กที่มีความผิดปกติทางประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เป็นต้น
- ออทิสติก คือเด็กที่มีพัฒนาการด้านภาษาช้า ร่วมกับความบกพร่องในการเข้าสังคม การสื่อความหมาย มีปัญหาพฤติกรรม และมีความเข้าใจที่ต่างจากเด็กทั่วไป ความผิดปกตินี้จะเกิดก่อนอายุ 30 เดือน หรือเกิดร่วมกับความบกพร่องอย่างอื่นด้วย เด็กจะไม่มองหน้า ไม่เข้าใจคำสั่ง เล่นคนเดียว ส่งเสียงไม่เป็นภาษา ชอบเล่นแบบเดิมๆ ซ้ำๆ มีปัญหาในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางการได้ยิน มองเห็น สัมผัส ได้กลิ่น หรือรับรส ความรู้สึกอาจจะไวหรือช้าเกินไป
- ปัญญาอ่อน คือเด็กที่มีเชาว์ปัญญาต่ำกว่า 70 มีพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆ ล่าช้า โดยเฉพาะการใช้ตาและมือทำงานประสานกัน เช่น การร้อยลูกปัด เป็นต้น รวมถึงมีปัญหาด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาการสื่อความหมาย การดูแลตัวเอง การเข้าสังคม การศึกษา เป็นต้น แต่ปัญหาเหล่านี้ต้องเกิดก่อนอายุ 18 ปี
- การขาดการกระตุ้นทางการพูดอย่างเหมาะสม แม้ว่าเด็กจะสามารถเข้าใจภาษาได้ดี แต่กลับไม่ยอมพูดหรือพูดน้อย เพราะมีคนที่คอยพูดแทนให้ตามความต้องการ เด็กจึงไม่ยอมพูดและอยู่ในภาวะพูดช้า แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เหมาะสม เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น
ทำอย่างไร เมื่อพบว่าเด็กพูดช้า หรือ ลูกไม่ยอมพูด ?
หากสังเกตพบว่า ลูกของเรา เหมือนจะเป็น “เด็กพูดช้า” หรือรู้สึกว่าทำไม “ลูกไม่พูด” ควรพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการตามความเหมาะสม หรืออาจพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักตรวจการได้ยินหรือนักแก้ไขการพูด เป็นต้น
ส่วนป้องกันหรือแก้ไข ปัญหาการพูดช้าของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริม พัฒนาการทางการพูด แก่เด็กให้เร็วที่สุด โดยฝึกให้เด็กเรียนรู้ภาษาตั้งแต่อายุน้อยๆ เพราะการรู้เร็วจะช่วยการแก้ไขและยังส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ ของเด็กได้เร็วขึ้นด้วย