ลูกชอบกรี๊ด โวยวาย เอาแต่ใจ ปรับพฤติกรรมลูก ก่อนกลายเป็นเด็กไม่มีเพื่อนคบ!
ผู้ปกครองบ้านไหนเมื่อขัดใจลูก มักเจอพฤติกรรมลูกชอบกรี๊ด โวยวาย เอาแต่ใจ ชักดิ้นชักงอนอนกับพื้น ปาข้าวของ เชื่อว่า ต้องมีกุมขมับกันบ้าง เพราะพฤติกรรมเด็กแบบนี้ เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะอาจลำบากพ่อแม่ สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น จนพ่อแม่เองถึงขั้นโมโห เผลอตี ดุลูกกันยกใหญ่ แต่เชื่อว่า ที่ทำไปก็เพราะรัก ไม่อยากให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เดี๋ยวคนอื่นจะมองลูกดื้อ เป็นเด็กก้าวร้าว หรือไม่มีเพื่อนคบ
แต่การตี ดุ หรือขึ้นเสียงใส่ลูก เมื่อลูกชอบกรี๊ด ลูกโวยวาย เอาแต่ใจ ชักดิ้นชักงอนอนกับพื้น ไม่ใช่ทางออกที่ดี และวิธีแก้ปัญหาที่ให้ผลระยะยาว แถมอารมณ์ผู้ปกครองที่พร้อมบวกกลับเด็ก ยังสร้างการฝังใจ และเด็กจะนำไปเลียนแบบพฤติกรรมได้ ดังนั้น การช่วยให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม และพร้อมเข้าใจอารมณ์ของลูก จะช่วยปรับพฤติกรรมเด็กเอาแต่ใจ ลูกชอบกรี๊ด โวยวายให้ดีขึ้นได้
สาเหตุลูกเอาแต่ใจ ชอบกรี๊ด โวยวาย ชักดิ้นชักงอกับพื้น ปาข้าวของ
การแสดงออกทางอารมณ์ และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกกรี๊ด โวยวาย เด็กร้องไม่หยุด อาจไม่ใช่การเอาแต่ใจ หรือเป็นเด็กดื้อเสมอไป แต่เขากำลังสื่อสารกับพ่อแม่ เพื่อต้องการความสนใจ เรียกร้องอะไรบางอย่าง หรือไม่พอใจ แต่ไม่สามารถใช้การพูดเพื่อสื่อสารบอกความต้องการได้
หากเป็นเด็กเริ่มโต เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยทอง 2 ขวบ คุณพ่อ คุณแม่จะมองว่า ลูกดื้อ เป็นเด็กดื้อ เด็กก้าวร้าว เพราะเขาจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง กล้าทำ กล้าแสดงออก รักอิสระ ไม่ชอบการถูกบังคับ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ขัดใจ หรือออกคำสั่งในสิ่งที่เขาไม่ชอบ ลูกอาจแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ด้วยการกรี๊ด อาละวาด ทำลายข้าวของ ชักดิ้นชักงอที่พื้น เพื่อแสดงความไม่พอใจออกมา หรือเด็กร้องไม่หยุด หากไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งพื้นฐานทางอารมณ์ สิ่งแวดล้อม และการอบรมเลี้ยงดูจากผู้ปกครอง มีผลต่อพฤติกรรมเด็กที่แสดงออกมา
อีกสาเหตุหนึ่งของพฤติกรรมลูกชอบกรี๊ด โวยวาย ปาข้าวของ เด็กร้องไม่หยุดอาจเป็นเพราะเด็กเคยชินและติดนิสัยกับการแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ แล้วพ่อแม่ตอบสนองในสิ่งที่ต้องการเสมอ ทำให้เด็กเรียนรู้ว่า หากกรี๊ด โวยวาย ทำลายข้าวของ คุณพ่อคุณแม่ต้องตามใจ จึงทำพฤติกรรมเช่นเดิมซ้ำๆ
ผลกระทบของการไม่ปรับพฤติกรรมเด็กชอบกรี๊ด โวยวาย เอาแต่ใจ
การแสดงออกเพื่อบอกความต้องการ แสดงอารมณ์ ความรู้สึกให้อีกฝ่ายรับรู้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่หากไม่ช่วยปรับพฤติกรรมลูกให้สื่อสารด้วยการพูด เพื่อบอกความต้องการ หรือแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมแทนการกรี๊ด โวยวาย ปาข้าวของ ชักดิ้นชักงอเมื่อไม่พอใจ หรือเรียกร้องอะไรบางอย่าง ทำให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ตามมาได้ ดังนี้
● ลูกมีภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกตนเองได้ (Sense-Control)
● การแสดงออกทางอารมณ์ไม่เป็นไปตามวัย (Emotional Infantilism)
● ขาดความมั่นใจในตนเอง (Self-Esteem)
● ไม่สามารถจัดการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้ อาจทำให้ผลการเรียนต่ำเมื่อเข้าโรงเรียน
● พัฒนาการด้านสังคมบกพร่อง เนื่องจากเด็กชอบกรี๊ด โวยวาย ทำลายข้าวของ ชักดิ้นชักงอ อาจแสดงพฤติกรรมกับผู้อื่น หรือคุณครู และเพื่อนๆ เมื่อเข้าโรงเรียน ทำให้คนอื่นมองว่า ลูกเป็นเด็กดื้อ เด็กก้าวร้าว จึงไม่มีใครอยากคุย หรือเล่นด้วย
● เกิดความวิตกกังวล เครียด อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลได้ในอนาคต
ดังนั้น หากคุณพ่อ คุณแม่ไม่อยากให้ใครมาว่าลูกเราเป็นเด็กดื้อ เด็กก้าวร้าว คุณพ่อ คุณแม่ต้องช่วยปกป้องลูก ด้วยการช่วยลูกให้แสดงออกอย่างเหมาะสม และสื่อสารให้เป็นนะคะ
Checklist พฤติกรรมเด็กน่าห่วง ต้องปรับด่วน!!!
เมื่อถูกขัดใจ เด็กแต่ละคนอาจแสดงพฤติกรรมออกมาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางอารมณ์ ความรู้สึก สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู ดังนั้น เด็กบางคนอาจมีพื้นฐานอารมณ์ ความรู้สึกที่รุนแรง จึงแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ใช่เด็กเอาแต่ใจ ลูกดื้อแบบปกติธรรมดาทั่วไป เคสแบบนี้น่าเป็นห่วงนะคะ ควรรีบปรับพฤติกรรมเด็ก และพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือเด็กจะดีที่สุด
จะรู้ได้อย่างไรว่า พฤติกรรมเด็กแบบไหนน่าห่วง? เช็กได้ตามนี้เลยค่ะ
●เมื่อไม่พอใจ เด็กทำร้ายตนเอง หรือทุบตีผู้ปกครอง
●ฉุดกระชากผู้ปกครอง เพื่อให้ตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ
●ชักดิ้นชักงอกับพื้น
●อาละวาด ปาข้าวของ ทำลายข้าวของ
●เด็กร้องไม่หยุดเป็นชั่วโมง
●ไม่ยอมเชื่อฟังใครเลย
พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงดังที่กล่าวมา ผู้ปกครองอาจรับมือได้ยาก หรือไม่สามารถรับมือได้คนเดียว แนะนำ ปรึกษานักจิตวิทยาคลินิกเด็กและวัยรุ่น เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสม และถูกวิธีนะคะ ซึ่งวิธีรักษาอาจแตกต่างกันออกไปแต่ละรายบุคคล บางคนหากมีอารมณ์รุนแรงมาก อาจจะต้องใช้ยารักษาร่วมด้วย แต่สิ่งสำคัญคือ การให้ความร่วมมือของผู้ปกครองจะช่วยปรับพฤติกรรมเด็กได้มากที่สุด เพราะใกล้ชิดกับเด็ก และเป็นบุคคลต้นแบบของพวกเขา
เทคนิคง่ายๆ ปรับพฤติกรรมลูกกรี๊ดโวยวายให้ได้ผล
ลูกชอบกรี๊ดโวยวาย ไม่พอใจ อาละวาด นอนดิ้นกับพื้น ปาข้าวของ การตี ดุ ขึ้นเสียงใส่ลูก ไม่ได้ช่วยปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น อาจจะช่วยปรับพฤติกรรมได้ระยะสั้นๆ เพียงเพราะเด็กกลัว แต่จะเป็นการสร้างปมในใจ ส่งผลไปจนถึงอนาคตของเด็กได้ แต่ในทางกลับกันหากพ่อแม่มีเทคนิคปรับพฤติกรรมลูกอย่างเหมาะสม โดยไม่ใช้อารมณ์ จะช่วยปรับพฤติกรรมของลูกได้ค่ะ ซึ่งเทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกอย่างเหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ดังนี้
1.ไม่ควรตอกย้ำ หรือตำหนิ เช่น “หยุดกรี๊ดนะ” “ไม่น่ารักเลย” “กรี๊ดไปเลย” หรือเมินเฉยด้วยการเดินหนี เพราะลูกจะเกิดความรู้สึกเครียด มีปมในใจ หรือเลียนแบบคำพูดของผู้ปกครองได้
2.สัมผัสตัวลูกเบาๆ พร้อมสบตา และพูดคุยถึงความต้องการของลูก จะช่วยให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตนเองด้วยการสื่อสาร
3.เมื่อลูกสงบลง โน้มน้าวให้ลูกเข้าใจว่า ทำไมต้องขัดใจ ทำไมพ่อแม่ถึงให้ทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ลูกพอจะเข้าใจได้
4.เสนอสิ่งอื่นทดแทน เบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อไม่ให้ลูกเครียดจนเกินไป
5.เมื่อลูกหยุดกรี๊ด ควรชมเชย และโอบกอด เช่น พูดว่า “แม่ดีใจนะที่หนูหยุดกรี๊ดได้” จะช่วยให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และเรียนรู้ว่า พฤติกรรมน่ารักแบบนี้ จะทำให้เขาได้รับความรักจากพ่อแม่ และพ่อแม่ภูมิใจ
6.สอนลูกให้รู้จักบอกความต้องการด้วยการพูด การแสดงออกที่เหมาะสม และพ่อแม่ควรทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดูด้วยว่า พฤติกรรมที่เหมาะสม พฤติกรรมแบบไหนน่ารัก เพราะเด็กๆ จะมองพ่อแม่เป็นต้นแบบ
พ่อแม่บางท่าน อาจคิดว่า ลูกชอบกรี๊ด โวยวาย ทำลายข้าวของ ชักดิ้นชักงอ ร้องไห้ไม่หยุดเมื่อถูกขัดใจ อาจดีขึ้นเมื่อเด็กเริ่มโต จึงมองข้ามพฤติกรรมเด็กที่ไม่เหมาะสมนี้ไป หรือไม่จริงจังกับการปรับพฤติกรรมเด็ก แต่หากลูกไม่ปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม ลูกอาจมีพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้นเมื่อถูกขัดใจ ไม่พอใจ กลายเป็นเด็กก้าวร้าว เมื่อโตขึ้นแก้ไขได้ยาก อย่างสุภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ดังนั้น สิ่งสำคัญ พ่อแม่ต้องใส่ใจกับการปรับพฤติกรรมเด็กให้มากขึ้น และเป็นแบบอย่างในการแสดงออกของพฤติกรรมที่เหมาะสม ไม่ควรแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พูดคำหยาบต่อหน้าลูก เพราะเด็กๆ จะเห็นผู้ปกครองเป็นต้นแบบของพวกเขา และพื้นฐานทางอารมณ์ สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู ล้วนมีผลต่อพฤติกรรมเด็ก