fbpx

ลูกพูดช้า ไม่ยอมพูดทำยังไงดี

ทำไงดี? ลูกพูดช้า…ไม่ยอมพูด

Cr. ทำไงดี? ลูกพูดช้า…ไม่ยอมพูด | โรงพยาบาลพญาไท (phyathai.com)

ปกติแล้ว… เด็กจะพูดคำที่มีความหมายได้คำแรกเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ โดยจะพูดคำที่ออกเสียงง่ายๆ ได้ก่อน เช่น หม่ำๆ แม่ ปาป๊า มาม้า และจะพูดได้ 2-3 คำติดกันเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ โดยทั่วไปเด็กที่ถือว่ามีปัญหาพูดช้า ก็คือเด็กที่อายุ 2 ขวบแล้ว แต่ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้เลย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรอให้ลูก 2 ขวบแล้วจึงสังเกต

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยอยู่ในวัยกำลังพูดหรือใกล้พูด หากเห็นเด็กในวัยเดียวกันเริ่มพูดแล้ว หรืออยู่ในวัยที่ควรเปล่งเสียง หรือพูดได้ตามเกณฑ์ที่ควร แต่ลูกของเรายังไม่มีวี่แววว่าจะทำได้ตามนั้น การไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงพัฒนาทางด้านการพูด ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้… ลูกพูดช้า ?

เด็กพูดช้า หรือ ลูกพูดช้า สังเกตได้จากการมีพัฒนาการด้านภาษาช้า คือ เด็กมีพัฒนาการด้านอื่นปกติ แต่พัฒนาการด้านภาษาช้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดได้จากหลายกรณี เช่น

1. เด็กพูดช้าเพราะปากหนัก

เด็กบางคนพูดช้า แบบที่เรียกว่า “ปากหนัก” คือเด็กมีการรับรู้ภาษาสมวัย เข้าใจและทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เพียงแต่ไม่เปล่งเสียงพูด ซึ่งเด็กมักจะบอกความต้องการด้วยการชี้บอก หรือใช้ภาษาท่าทางอื่นๆ เด็กบางคนมีประวัติครอบครัวพูดช้า หรือพูดไม่ชัดด้วย ในเด็กกลุ่มนี้มักพัฒนาการพูดต่อไปได้จนเป็นปกติเหมือนกับเด็กอื่นๆ ทั่วไปในที่สุด

2. เด็กที่มีความล่าช้าทั้งด้านความเข้าใจและการพูด

เด็กกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการเข้าใจภาษาเหมือนเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งผู้เลี้ยงดูเด็กส่วนมากสังเกตเห็นแต่เฉพาะการพูดช้าของเด็ก แต่มักมองข้ามความเข้าใจด้านภาษา

3. เด็กที่มีการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารบกพร่อง

เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ภาษาให้เหมาะสมตามสถานการณ์ หรือใช้ภาษาไม่ถูกกาลเทศะ

4. ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

หรือที่เรียกกันว่า เด็ก “ไม่รู้เรื่อง” เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน มักมีความบกพร่องทั้งด้านความเข้าใจสถานการณ์ การปรับตัว ความจำ เด็กมักจะพูดช้ากว่าวัย ร่วมกับมีทักษะการเล่น หรือการแก้ปัญหาช้ากว่าเด็กทั่วไปด้วย

5. โรคออทิสติก

คือ เด็กมีความบกพร่องด้านการสื่อสารสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กจะพูดช้าหรือเคยพูดได้แล้ว แต่หยุดไปหรือพูดเป็นภาษาต่างด้าว เป็นคำที่ไม่มีความหมาย มีพฤติกรรมแยกตัว ไม่ค่อยเล่นหรือสุงสิงกับคนอื่น ไม่ค่อยสบตาหรือชี้บอกความต้องการ บางคนอาจมีพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น หมุนตัว มองของที่หมุนได้นานๆ เป็นต้น

6. เด็กที่มีภาวะการได้ยินบกพร่อง

เด็กกลุ่มนี้ จะมีความรุนแรงของอาการในระดับที่ต่างกัน คือ เด็กบางคนไม่ได้ยินเลย หรือได้ยินไม่ชัดเจนจึงพูดไม่ได้ หรือพูดช้า พูดน้อยกว่าปกติ เด็กมักจะพยายามจ้องมองปากเวลาคู่สนทนาพูด หรือพยายามสังเกตท่าทางของผู้อื่น สื่อสารกับผู้อื่นโดยการใช้ภาษากาย ใช้ท่าทางประกอบการสื่อสาร

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพูดช้าผิดปกติหรือไม่ ?

วิธีที่จะสังเกตว่าลูกน้อยของคุณพูดช้าหรือไม่ดูได้จาก 2 ส่วนสำคัญ คือ

  1. ลูกเข้าใจภาษาหรือไม่ และลูกใช้ภาษาอย่างไร โดยปกติเมื่อเด็กอายุประมาณ 15 เดือน คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตว่าเจ้าตัวน้อยของคุณออกเสียงพูดที่มีความหมายบ้างหรือไม่ เช่น “หม่ำๆ” เวลาหิว หรือในกรณีที่พยายามสื่อสารหรือชวน เช่น “ปะๆ”
  2. ในส่วนของความเข้าใจภาษา คือ เด็กควรจะเริ่มหันมอง ชี้ของที่อยากได้ หรือสิ่งที่ตนเองสนใจได้ แต่หากอายุ 15 เดือนแล้วยังไม่พูดคำที่มีความหมายเลย ไม่ตอบสนองกับคำถามง่ายๆ แบบนี้ให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าเด็กน่าจะมีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

วิธีง่ายๆ ช่วยกระตุ้นการพูดให้ลูกน้อย

  • คุณพ่อคุณแม่พยายามพูดคุยกับลูกให้มากขึ้น ชวนถาม-ตอบสั้นๆ โดยใช้คำที่ง่ายและสั้น แล้วชื่นชมลูกเมื่อลูกให้ความร่วมมือ
  • ไม่ปล่อยลูกน้อยไว้กับโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มากเกินไป เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว
  • ควรให้ลูกทำกิจกรรม เช่น พูดในสิ่งที่ลูกสนใจ เล่านิทานและดูรูปภาพ ซึ่งพ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด